รังแค


 รังแค (dandruff)

รังแค (dandruff) เป็นสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะเกิดจากเซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเรา ซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลา ประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แถมยังจะมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่ามีรังแคเกิดขึ้น

 

 

 

รังแคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก รังแคถือว่าเป็นโรคของหนังศีรษะชนิดเรื้อรังที่มีลักษณะเฉพาะตัว บางคนอาจมีรังแคมาก บางคนอาจมีรังแคน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ หนังศีรษะที่มีรังแคจะคัน และมีกลิ่นเหม็น จากสถิติพบว่ารังแคมักเกิดขึ้นตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี โดยทั่วไปวัยรุ่นจะเริ่มมีรังแค และเมื่ออายุ 50 ปี จะสังเกตพบว่ารังแคเริ่มหายไป จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าชาวคอเคเชียนประมาณครึ่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องรังแค
 

รังแคมีทั้งชนิดผมมันและชนิดผมแห้ง อาจตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยการก้มศีรษะลง วางกระดาษดำ หรือผ้าสีเข้มๆ ไว้ตรงหน้า แล้วหวีเอาฝุ่นผงต่างๆ จากเส้นผมออก ดูว่าฝุ่นผงที่หลุดมาจากเส้นผมมีลักษณะอย่างไร ถ้าเป็นผงเล็กๆ เหมือนแป้ง แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมแห้ง แต่ถ้าฝุ่นผงที่หลุดออกมามีลักษณะชิ้นใหญ่ เป็นก้อน และชื้น แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมมัน

สาเหตุ

1.               รังแคเกิดจากเชื้อราเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุก เชื้อราดังกล่าวเป็นเชื้อราเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า 'เชื้อยีสต์' ชื่อวิทยาศาสตร์คือ malassezia หรือชื่อเดิมว่า pityrosporum

2.               เชื้อราพวกนี้อาศัยอยู่ที่หนังศีรษะ กินน้ำมันที่สร้างมาจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหารโดยปกติไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่บางครั้งพบว่าเชื้อกำเริบและเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังศีรษะ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวที่เร็วขึ้น และพบมีเซลล์ที่ตายแล้วอยู่บนหนังศีรษะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเป็นรังแคในที่สุด
 

3.               เดิมเชื่อกันว่า รังแคเกิดจากผิวหนังแห้ง ผิวหนังมันเกินไป การสระผมด้วยแชมพูบ่อยเกินไป การสระผมด้วยแชมพูน้อยเกินไป ภาวะโภชนาการไม่ดี ความเครียด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมมากเกินไป ปัจจุบันพบว่าสาเหตุจากเชื้อรามีความสำคัญมากที่สุด

อาการ

1.               รังแคทำให้มีอาการคันและมองดูไม่สะอาดตา ยิ่งเกายิ่งคันและจะมีขุยหลุดร่วงมากขึ้น สร้างความรำคาญและบั่นทอนบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก บางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ แต่มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก

2.               โดยทั่วไปรังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงทีบริเวณหนังศีรษะเลย แต่ถ้ามีรังแคมาก ร่วมกับอาการคัน หรือผื่นแดงที่หนังศีรษะ อาจเป็นอาการของโรคผิวหนัวบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบเซ็บ-เดิร์ม (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) หรือโรคแพ้สารเคมี หรือน้ำยาบางอย่าง
 

การวินิจฉัย

สามารถให้การวินิจฉัยได้ไม่ยาก ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่ามีโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์
 

 

การรักษา

1.               ใช้ยาสระผมกำจัดรังแค แม้ว่าจะไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้ เพียงทำให้ลดจำนวนลง แต่ยาสระผมกำจัดรังแคก็เพียงพอที่จะทำให้รังแคไม่ก่อให้เกิดปัญหาอีกต่อไป

2.               ควรใช้ยาสระผมเหล่านี้ติดต่อกัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ การสระผมแต่ละครั้งต้องทิ้งยาสระผมไว้เป็นระยะเวลา 5-15 นาที เพื่อให้ออกฤทธิ์ ไม่ควรรีบล้างออก หลังจากอาการดีขึ้น สามารถลดการใช้เป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

3.               หลังจากใช้ยาสระผมกำจัดรังแค ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจพบว่าไม่ได้ผลดี ควรเปลี่ยนเป็นยาสระผมชนิดอื่นในกลุ่มที่กล่าวข้างต้น แล้วหมุนเวียนสลับกันไปเรื่อยๆ ได้ ส่วนมากหลังเลยวัยรุ่นหรือเมื่อความมันของผิวลดลงอาการก็จะดีขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนแอนโดรเจน มีบทบาท
เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด รังแคอาจกำเริบขึ้นมาอีกได้
 

4.               ในกรณีที่ใช้ยาสระผมเพียงอย่างเดียวแล้วไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการตรวจเพื่อหาโรคผิวหนังอื่น ซึ่งอาจเป็นสะเก็ดผิวหนังคล้ายรังแคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือเชื้อราที่หนังศีรษะ เป็นต้น ซึ่งโรคทั้ง 2 ชนิดนี้
จำเป็นต้องใช้ยาทาที่ลดการอักเสบของผิวหนัง หรือยากินฆ่าเชื้อรา เป็นต้น

5.               บางรายอาจใช้ยาหยดเพื่อลดการอักเสบที่หนังศีรษะ โดยหวีผมแสกออก แล้วหยดน้ำยาลงบนหนังศีรษะบริเวณที่มีสะเก็ด ใช้นิ้วเกลี่ยให้ทั่วบริเวณแล้วทิ้งไว้ ควรทำวันละสองครั้ง