Eczema


 ผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ 

หรือ 

แฮนด์ เอ็กซีม่า (Hand Eczema)

 
ผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปกับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะพบผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แฮนด์ เอ็กซีม่า (Hand Eczema) และผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่มีการใช้หยิบจับสิ่งของ และสัมผัสสิ่งต่างๆตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การอักเสบติดเชื้อ จึงควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง
 
 

สาเหตุของโรคที่ควรรู้

สาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ อาจเกิดจากการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ (Allergen) หรือสารที่ระคายเคืองต่อผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ น้ำยาทำความสะอาด หรือสารเคมีต่างๆ แม้แต่ส่วนผสมบางอย่างในเครื่องสำอาง และในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ใช้เป็นประจำ การสัมผัสกับน้ำบ่อยๆ การถูกอากาศแห้งจัด หรือเย็นจัด ก็สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ เมื่อเกิดอาการแพ้ หรือระคายเคืองจะทำให้ผิวที่มือแห้ง แตก ลอก คัน และเกิดอาการอักเสบในที่สุด
 
 
 
ผิวหนังบริเวณมือที่แตกแห้งจะสูญเสียความแข็งแรง และความสามารถในการต้านทานกับสิ่งที่สัมผัส ทำให้สารก่อการแพ้ต่างๆซึมผ่านผิวได้มากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ โดยมากจะพบว่าเริ่มมีอาการแห้งแตกและเป็นตุ่มคัน ถ้าขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้องในช่วงเริ่มต้น และอาการต่างๆของแฮนด์เอ็กซีม่าจะรุนแรงมากขึ้น
 

คำแนะนำ และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย แฮนด์ เอ็กซีม่า

1. หลีกเลี่ยงสารที่ตนเองแพ้ ในกรณีที่พบอาการแพ้เกิดขึ้นบ่อย (เรื้อรัง) แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแพ้สารชนิดใด ควรพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการทดสอบผื่นแพ้สัมผัสที่ผิวหนัง (Patch Test) และเมื่อทราบแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารนั้น
2. หลี่กเลี่ยงการล้างมือด้วยน้ำอุ่นจัดบ่อยๆ เนื่องจากน้ำอุ่นจัดจะไปทำลายไขมันตามธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นเกราะปกป้องผิว ทำให้เซลล์ผิวที่มือเกิดการสูญเสียความชุ่มชื้น ผิวแห้งแตก ไวต่อการแพ้ และทำให้อาการของเอ็กซีม่ารุนแรงขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ (Soap) สบู่และผงซักฟอกส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะทำให้ผิวมือที่มีอาการอักเสบอยู่แล้ว แห้งตึงมากขึ้นและเกิดการระคายเคือง ไม่ควรใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม ยาฆ่าเชื้อ ยาดับกลิ่น หรือวิตามิน เพราะอาจก่อให้เกิดการแพ้จากส่วนผสมข้างต้น แต่ถ้าจำเป็นก็ควรเลือกใช้สบู่อ่อน (mild soap) หรือ Soap-free คลีนเซอร์ โดยเลือกฟอกเฉพาะบริเวณที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ซอกนิ้วหรือซอกเล็บและเมื่อทำความสะอาดมือเสร็จควรซับมือให้แห้ง ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือน้ำยาทำความสะอาด ในการทำความสะอาดมือ และต้องอย่าลืมซับมือให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว
4. ควรใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น หรือมอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) ซึ่งมีให้เลือกทั้งชนิดครีม และโลชั่น ควรทามอยส์เจอไรเซอร์ที่มือบ่อยๆ เมื่อรู้สึกว่ามือแห้งตึง หรือทุกครั้งหลังการล้างมือ หรือเมื่อถอดถุงมือออกหลังการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้มือแห้ง มอยส์เจอไรเซอร์จะเป็นตัวช่วยลดการระเหยของน้ำออกจากเซลล์ผิวและในขณะเดียวกันสารบางตัวในมอย์เจอไรเซอร์ เช่น ยูเรียจะเป็นตัวช่วยดึงความชุ่มชื้นในอากาศมาอยู่ที่บริเวณผิวมากขึ้น มอยส์เจอไรเซอร์ที่ใช้ควรปราศจากน้ำหอม (Fragrance Free) และไม่มีส่วนผสมของสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ผสมอยู่
 
ถ้าเป็นมอยส์เจอไรเซอร์ที่ป้องกันการระเหยของน้ำได้ดีมักจะทำให้รู้สึกเหนอะหนะที่ผิว ซึ่งโดยทั่วไปมอยส์เจอไรเซอร์ กลุ่ม White Petrolatum Jelly จะดีสุด รองลงมาเป็นมอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของ Light Mineral Oil และ Mineral Oil ตามลำดับ
 
การเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทมอยส์เจอไรเซอร์ ควรเลือกที่ระบุว่าก่อให้เกิดการแพ้น้อย (hypo-allergenic) และปราศจากน้ำหอม
 
ส่วนมอยส์เจอไรเซอร์ที่ผสมยูเรีย (Urea Cream & Lotion) จะมีคุณสมบัติช่วยอุ้มน้ำในชั้นผิวได้ดี และยังช่วยให้ยาทาชนิดอื่นสามารถซึมผ่านผิวได้ดีขึ้น ทำให้เพิ่มผลของยาทาในการรักษาแฮนด์เอ็กซีม่าได้
 
5. ควรเลือก และใช้ถุงมือให้ถูกกับประเภทของงานที่ทำ ควรเลือกใช้ถุงมือไวนิล (Vinyl) หรือถุงมือพีวีซี (PVC) ซึ่งก่อให้เกิดการแพ้ได้น้อยกว่า ถุงมือยาง หรือ ถุงมือลาเท็กซ์ (ถุงมือแพทย์) ขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานบ้าน และงานที่มือต้องเปียกแฉะ และเมื่อมีการสัมผัสกับสารต่างๆ หรือสารเคมีที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้อาการของแฮนด์ เอ็กซีม่ากำเริบมากขึ้น ในกรณีของงานแห้งๆควรเลือกใช้ถุงมือผ้าขาว
6. ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ สำหรับผู้ป่วย แฮนด์ เอ็กซีม่า
ไม่ควรใส่ถุงมือยาง ถุงมือไวนิล หรือถุงมือพีวีซีนานเกิน 15 – 30 นาทีต่อครั้ง เพราะถุงมือประเภทนี้ระบายความชื้นไม่ดี โดยเฉพาะเวลาที่เหงื่อออกมากจะทำให้เกิดความอับชื้น และอาจระคายเคืองได้
ควรเปลี่ยนถุงมือทันทีเมื่อรู้สึกว่าด้านในถุงมือเปียกชื้น หรือควรใส่ถุงมือผ้าขาวไว้ข้างในชั้นหนึ่งก่อนใส่ถุงมือยางเพื่อดูดซับเหงื่อในระหว่างที่ทำงาน
ควรเลือกใส่ถุงมือผ้าขาวในกรณีทำงานแห้งและมีการสัมผัสกับฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเพื่อป้องกันไม่ให้มือสัมผัสกับสารเหล่านั้นและเป็นการหลีกเลี่ยงการล้างมือบ่อยๆ
ในกรณีของผุ้ที่ชอบทามอยส์เจอไรเซอร์ที่ข้นเหนียว การใส่ถุงมือผ้าจะช่วยลดความรำคาญจากความเหนอะหนะได้
การใส่ถุงมือผ้าหลังจากการทายาช่วงก่อนนอน จะช่วยให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ดีขึ้น
ควรทายาอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง และควรดูแลให้ผิวที่มือชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
ควรถอดแหวนออกขณะทำงานบ้าน หรือล้างมือ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ฝุ่นหรือคราบสบู่ที่อยู่ใต้วงแหวนกระตุ้นให้อาการแฮนด์ เอ็กซีม่ากำเริบมากขึ้น
ควรใช้แปรงด้ามยาวในการขัดล้าง ควรใส่ถุงมือที่กันน้ำ เมื่อต้องล้างจานหรือซักผ้าเพื่อป้องกันอการกำเริบของแฮนด์ เอ็กซีม่า
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของเหล่านี้ด้วยมือเปล่า
- อาหาร น้ำผลไม้ เปลือกผลไม้ โดยเฉพาะส้ม มะนาว ส้มโอ รวมถึงมะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม พริก เนื้อปลาสด เนื้อสัตว์ต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง และอาการกำเริบได้
- น้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก น้ำยาขัดเงา น้ำมันก๊าด ทินเนอร์ ตัวทำละลาย (solvent) กาว แว็กซ์ อิพ๊อกซี่ เรซิน น้ำมันใส่ผม โลชั่นใส่ผม ยาย้อมผม เป็นต้น
- ในกรณีที่หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นต่างๆไม่ได้ ควรใส่ถุงมือก่อนการสัมผัสสารเหล่านั้นหรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น แปรงที่มีด้ามยาว แปรงทายา หรือไม้พันสำลี เป็นต้น
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยตรงจาก
แพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ
 
 
ราม2 เอ็ม.ดี สหคลินิก โทร. 0-2397-7045
สำโรงคลินิก โทร 0-2394-4907, 0-2384-0974
รักษาสิว ฝ้า กระ – โรคผิวหนังทุกชนิด - ฉีด BOTOX –  FILLER – จี้ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ หูดด้วยเลเซอร์ CO2 – ทรีทเม้นท์หน้าใส ผิวขาวใส เรียบเนียน – ลดริ้วรอย – ลดความอ้วน – ฟื้นฟูสภาพเส้นผม ผมร่วง –ตรวจโรคทั่วไป - โรคภูมิแพ้ – รักษาโรคทางทันตกรรม จัดฟัน ฟอกฟันขาวด้วยระบบ Cold Light